ทิศทางค่าเงินบาทผันผวนแค่ไหน เหตุปัจจัยสำคัญนโยบายภาษีสหรัฐ

2025-04-23     IDOPRESS

เงินบาทอาจอ่อนค่าได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเงินบาทอาจแข็งค่า จากความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐ ที่ลดลง ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทช่วงที่ผ่านมาผันผวนแรง โดยในช่วงแรกที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นใกล้เคียงระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วใกล้เคียงระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วนี้ เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง เพราะตลาดมองว่าสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้า (Tariffs) มากกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น จากการบริโภคและจ้างงานที่อาจแย่ลง ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐลดลง

นอกจากนี้ ล่าสุดตลาดกังวลเรื่องการปลด Jarome Powell ออกจากตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ส่งผลให้การเทขายสินทรัพย์สหรัฐ เร่งมากขึ้น ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ ลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (US Treasury yields) ปรับสูงขึ้น และดัชนีค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อ

เงินบาทอาจกลับไปอ่อนค่าได้ในระยะสั้น โดยมองกรอบที่ราว 33.50-34.50 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก 1) สหรัฐ อาจกลับมาขึ้น Tariffs บางส่วนหลังผ่านไป 90 วัน ทำให้เงินเอเชียรวมถึงบาทอาจอ่อนค่า และดัชนีเงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าบ้าง 2) คาดว่าธนาคารกลางของประเทศเอเชียส่วนใหญ่จะปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าเทียบต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากจะช่วยบรรเทา (cushion) ผลจาก Tariffs ได้บางส่วน โดยทางการจีนตั้งใจปล่อยเงินหยวนอ่อนค่า สะท้อนจาก CNY fixing ที่ปรับอ่อนค่าขึ้นเร็วใกล้ระดับ 7.20 ต่อดอลลาร์ หลังวันประกาศ Reciprocal tariffs แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงระดับ Fixing ที่ระดับราว 7.17-7.18 มาต่อเนื่องถึง 2 เดือน และ 3) เลขเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแย่ลงจากผลของมาตรการ Tariffs โดยมองว่าดุลการค้าไทยจะปรับแย่ลง และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อการลงทุนและการผลิตที่อาจชะงักลง ทำให้ กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยอย่างเร็วอาจลดในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้เลย

ในระยะยาว เงินบาทอาจแข็งค่าได้ มองกรอบที่ราว 32.50-33.50 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ โดยปัจจัยหลักน่าจะมาจากดัชนีเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า จากความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐ ที่ลดลง โดยในกรณี Baseline ที่เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลง แต่ยังไม่ถึงขั้น Recession (เกิดการ unwind US Exceptionalism) ขณะที่เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวไม่มากโดยอาจอยู่ระหว่าง 3-4% ทำให้ Fed อาจลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ 3 ครั้งนับตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่ง SCB FM มองว่าจะทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบต่อสกุลเงินอื่นรวมถึงเงินบาท และเงินทุนมีแนวโน้มไหลออกจากสหรัฐ ต่อเนื่อง โดยบางส่วนไหลเข้าตลาดหุ้นกลุ่มประเทศยุโรป และตลาดบอนด์ของ EM Asia

นอกจากนี้ สกุลเงินหลักอื่นก็มีแนวโน้มแข็งค่าเทียบต่อดอลลาร์ เช่น เงินยูโร และเงินเยน โดยในส่วนของเงินยูโรนั้น มีแนวโน้มแข็งค่าต่อจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ส่วนเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น และคาดว่าภาคเอกชน เช่น กลุ่มธุรกิจประกัน พร้อมโยกเงินทุนกลับเข้าตลาดบอนด์ในญี่ปุ่นด้วย สุดท้าย ราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยจะช่วยดันให้บาทแข็ง โดยล่าสุดราคาทองคำทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับราว 3,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์

โดย SCB FM มองว่า ในระยะต่อไปยังมีโอกาสปรับสูงขึ้นต่อ เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินและบั่นทอนความเชื่อมั่นในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังพบว่ามีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่กองทุน ETF ที่มีทองคำหนุนหลังจึงช่วยหนุนราคาทองต่อ รวมถึงการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารกลางของหลายประเทศ ซึ่งราคาทองที่สูงขึ้นจะสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวต่างจากที่ประเมินได้ โดยอาจมาจากสงครามการค้า หรือการปลดนายเจอโรม พาวเวลล์จากตำแหน่งประธาน Fed โดยหากไทยยังไม่สามารถทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐ เพื่อให้ลดภาษีลงได้ภายใน ก.ค. อาจทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ประกอบกับแนวโน้มปัจจัยในประเทศที่อาจอ่อนแอในช่วงครั้งปีหลัง กดดันบาทอ่อนค่ากว่าคาดได้ โดยในกรณีนี้อาจเห็นบาทกลับไปอ่อนค่าที่กรอบ 35.00-36.00 ต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี หากทรัมป์ปลดนายเจอโรม พาวเวลล์ จากตำแหน่ง อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ สูงขึ้นเร็ว (เกิด Bond yields spike) และดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อ กดดันให้บาทแข็งค่าลงไปใกล้ระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ได้

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา