Sat Apr 12
ส่งออกส่อเละ เริ่มกระทบชัด ชะลอสั่งซื้อ สินค้ายังไม่ลงเรือ ยังงง!! ใครรับผิดชอบภาษีใหม่
2025-04-11
IDOPRESS
หอการค้าไทยชี้ส่งออกเริ่มกระทบ ชะลอคำสั่งซื้อ งง!! ใครรับผิดชอบภาษีที่ตกลงซื้อขายกันแล้ว หนุนรัฐตั้งทีมไทยแลนด์ จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาสวมสิทธิไทยส่งออก หวั่นส่งออกกระทบหนัก หากรัฐเจรจาไม่เป็นผล แนะเร่งขยายตลาด พึ่งพาอาเซียนบวก 3
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36% ว่า ผลกระทบเบื้องต้น พบว่า ปัจจุบันเริ่มมีการชะลอการสั่งซื้อสินค้านำเข้าไปยังสหรัฐ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของอัตราภาษีว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการซื้อขายสินค้าที่มีการตกลงราคากันแล้ว ว่าสุดท้ายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบการเสียภาษี รวมถึงออร์เดอร์ค้างเก่าที่ยังอยู่ว่าจะมีทิศทางอย่างไร รวมถึงการซื้อขายสินค้าล่วงหน้าในอนาคตด้วย
“ไม่ใช่แค่ภาษี แต่ดูในหลายเรื่อง ต้องมาดูว่าเราตั้งภาษีเกินไปหรือไม่สำหรับสินค้าในหลายรายการ ขณะเดียวกันสหรัฐยังมีความกังวลเรื่องของสินค้าผ่านแดน หรือ สินค้าสวมสิทธิ โดยรัฐก็รีบเร่งเพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ สำหรับในเบื้องต้น ยอมรับว่า เกิดความเสียหายในเรื่องของโอกาส หากมีการต่อเวลา หรือ ขยายมาตรการถึงเดือน ก.ค. จะทำให้การส่งออกในเดือน เม.ย. อาจได้รับผลกระทบได้ไม่มากนัก”
ทั้งนี้ต้องการเสนอให้มีการตั้งทีมไทยแลนด์ ที่จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดทั้งข้อเสนอแนะ ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาทิศทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ขณะเดียวกัน ไทยจะต้องขยายตลาดการส่งออกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการหา ตลาดในอาเซียนบวก 3 (กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี) มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ความตั้งใจที่รัฐบาลจะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐนั้น เป็นทิศทางที่ดีแต่หากการเจรจาไม่เป็นผล และยังคงการเรียกเก็บภาษีในระดับดังกล่าว เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน โดยยืนยันว่า ไม่อยากให้มองผลกระทบระหว่างสหรัฐกับไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างไทยกับโลกด้วย
“การเจรจาทุกอย่างต้องมีคนได้คนเสีย อยากได้บางอย่าง อาจต้องเสียบางอย่าง ซึ่งอยู่ที่หน้าที่ของรัฐว่าจะดำเนินการอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม พึงพอใจกับแนวทางการดำเนินการของรัฐบาลที่จะเร่งดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิดว่าจะดำเนินการอย่างไร และเชื่อว่า มาถูกทางแล้วในการเดินหน้าเพื่อเร่งเจรจา และมีแบบแผนที่ชัดเจนทั้งเรื่องการนำเข้าสินค้า เพื่อสร้างการสมดุลทางการค้า การแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวก รวมถึงการแก้ไขปัญหาการสวมสิทธิสินค้าด้วย”