ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT คืออะไร ใครบ้างต้องเสีย รัฐเก็บอัตรา 7% มาตั้งแต่ปี 40

2024-12-05     HaiPress

ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT คืออะไร ใครบ้างต้องมีหน้าที่เสียภาษีแวต คิดคำนวณอย่างไร รู้หรือไม่? ภาษี VAT คงไว้ที่อัตรา 7% มาตั้งแต่ปี 2540

จากแนวคิดของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่จะมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้มากกว่า 7% ที่จัดเก็บในปัจจุบันนั้น มาทำความรู้จักกันว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร?

ภาษีมูลค่าเพิ่มคืออะไร?

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ

ใครมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม?

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคลใดๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีและมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน (หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนได้)

วิธีการคำนวณภาษีอย่างไร?

ภาษีที่ต้องเสีย คำนวณจากการนำภาษีขายทั้งเดือนภาษี มาหักด้วยภาษีซื้อทั้งเดือนภาษีหากมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ให้ชำระภาษีส่วนต่างนั้นหากมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย จะขอคืนภาษีส่วนต่างเป็นเงินสด หรือยกไปเครดิตภาษีในเดือนถัดไปก็ได้ ดังนี้


-หากภาษีขาย > ภาษีซื้อ = ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ


-หากภาษีขาย < ภาษีซื้อ = ภาษีที่มีสิทธิขอคืน หรือขอเครดิตภาษี

ภาษีขาย ภาษีซื้อ คืออะไร?

ภาษีขาย หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อมีการขายสินค้าหรือรับค่าบริการภาษีซื้อ หมายถึง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้จ่ายให้กับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นผู้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพื่อใช้ในการประกอบกิจการของตน ภาษีซื้อที่จะนำมาหักได้นี้คลุมไปถึงภาษีซื้อของสินค้าประเภททุนด้วย

ตัวอย่างการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT

สมมุติว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ซื้อวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์มา 100 บาท และมีภาษีซื้อ 10 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 บาท ตอนขายไปจะต้องคิดภาษีขาย 15 บาทดังนั้น จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 15-10 = 5 บาท เท่านั้น ถ้าการซื้อ และขายเกิดขึ้นภายในรอบการจ่ายภาษีเดียวกัน

รู้หรือไม่? : ในประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 10% แต่ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 (ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง) เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 7% เป็นประจำทุกปี รวมเป็นระยะเวลา 28 ปี (ปี 2540-2567) โดยที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ใน 9 ที่เก็บได้ จะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และที่เหลืออีก 8 ส่วนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลกลาง

ที่มา : กรมสรรพากร

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา