Tue Dec 31
หุ้นไทยซบหนัก ต่างชาติเทขาย 6 สัปดาห์ เกาะติดปัจจัยในไทย-ตปท.
2024-07-01 HaiPress
ต่างชาติเทขายหุ้นไทย SET ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ติดต่อกัน หลายปัจจัยกดดัน เกาะติดสถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเมืองไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และบล.กสิกรไทย รายงานหุ้นไทย SET ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในช่วงแรกขานรับปัจจัยบวกจากมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน ก่อนจะย่อตัวลงในช่วงท้ายสัปดาห์
หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ โดยมีปัจจัยหนุนมาจากความหวังเชิงบวกต่อมาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน อาทิ การปรับเกณฑ์กองทุน TESG และมาตรการการกำกับดูแลพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจัยบวกดังกล่าวส่งผลให้มีแรงซื้อหุ้นทุกอุตสาหกรรม นำโดย กลุ่มแบงก์ ไฟแนนซ์และพลังงาน
อย่างไรก็ดี หุ้นไทยย่อตัวลงในเวลาต่อมา หลังตอบรับประเด็นบวกข้างต้นไปพอสมควร โดยนักลงทุนกลับมาระมัดระวังในการลงทุนระหว่างรอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE ของสหรัฐ ที่จะเปิดเผยในช่วงท้ายสัปดาห์ รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศ
นอกจากนี้ แรงขายหุ้นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าและหุ้นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานจากความกังวลเรื่องแนวโน้มผลประกอบการมีส่วนกดดันหุ้นไทยในช่วงท้ายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน อนึ่ง นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ติดต่อกัน
ในวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,300.96 จุด ลดลง 0.42% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,416.84 ล้านบาท ลดลง 14.48% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.81% มาปิดที่ระดับ 355.45 จุด
สัปดาห์ถัดไป (1-5 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,290 และ 1,280 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,310 และ 1,325 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. ของไทย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ประเด็นการเมืองในประเทศและทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน มิ.ย. ของยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน
คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา